นาทีนี้กิจกรรมที่มาแรงที่สุด คงหนีไม่พ้นงาน Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ ที่ล่าสุดก็ได้เห็นคลื่นมหาชนเดินทางมาลงทะเบียนเพื่อรับเสื้อและเข็มพระราชทาน เพื่อนำไปใส่ในวันงานกันอย่างล้นหลาม
สำหรับแวดวงนักปั่นเอง ต้องบอกว่า งานนี้เป็นงานที่มีขาปั่นจากทุกชมรม ทุกสมาคม มารวมตัวกันมากที่สุดก็ว่าได้ นอกจากนักปั่นสายแข็งแล้ว ยังมีนักปั่นมือใหม่อีกหลายกลุ่ม ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมขบวนปั่นในงานนี้ด้วย
ว่าแต่...นักปั่นมือใหม่ รู้หรือเปล่า? ว่างานนี้เขาจะปั่นในระยะทาง 43 กิโลเมตรเลยทีเดียว ไม่ใช่เล่นๆ เลยนะ คงจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมกับการปั่นระยะไกลๆ แบบนี้กันสักหน่อย
เอาเป็นว่า ไม่ต้องกังวล เพราะวันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวม 9 วิธีเตรียมตัวก่อนปั่นจักรยานระยะทางไกล รวมถึงข้อควรปฏิบัติขณะปั่น และการดูแลร่างกายหลังปั่นจักรยาน มาฝากกัน เพื่อจะได้นำไปฝึกและฟิตให้ร่างกายพร้อม ก่อนไปร่วมงาน Bike For Mom ในวันที่ 16 สิงหาคม 2558 นี้
1. ประเมินตัวเอง และเจ้าสองล้อคู่กาย
ก่อนอื่นเลยต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า ร่างกายเราตอนนี้ฟิตแค่ไหน ถ้าจะเดินทางด้วยการปั่นจักรยานไกลๆ จะไหวมั้ย ทดสอบด้วยการลองพาจักรยานของคุณ (หรือยืมเพื่อนก่อนก็ได้) ออกไปปั่นรอบหมู่บ้านหรือตามเส้นทางใกล้ๆ ก่อน แล้วสังเกตดูว่า เวลาปั่นในความเร็วต่อเนื่อง ร่างกายเริ่มฟ้องว่าเหนื่อยและหมดแรงตอนไหน ก็จับเวลาไว้ ลองดูว่าใน 1 วัน เราปั่นได้ไกลแค่ไหน
ถ้าผลออกมาว่ายังไม่ฟิตพอ ก็ต้องหาตัวช่วย ต้องไปออกกำลังกายเสริมความแข็งแรง เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก หรือเล่นฟิตเนส ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้ว่าจักรยานของเรานั้น พาเราไปได้ไกลแค่ไหน รองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากน้อยเท่าไร เป็นต้น
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IEaIWmlc57C07TkOv41tvHjrqn.jpg)
ซ้อมปั่นๆ ๆ และปั่น
2. ศึกษาเส้นทางที่จะไปปั่น
ต่อมาคือ ต้องศึกษาเส้นทางที่จะไปปั่น ในกรณีนี้คือจะไปปั่นงาน Bike For Mom งานนี้เป็นการปั่นในระยะ 43 กิโลเมตร ขาไปเริ่มต้นจาก พระลานพระราชวังดุสิต ไปตามถนนศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายแยกพญาไท ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวขวาไปสามเหลี่ยมดินแดง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดี-รังสิต ผ่านหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ไปตามถนนวิภาวดี-รังสิต
จากนั้น เลี้ยวขวาเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกประตูมหาวิทยาลัยด้านถนนพหลโยธินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเข้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ส่วนขากลับ ออกจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ย้อนกลับเส้นทางเดิม จบที่พระลานพระราชวังดุสิต แต่ทั้งนี้ ไม่จำเป็นจะต้องปั่นตามเส้นทางทั้งหมดนี้ก็ได้ คุณสามารถเลือกจุดที่จะเริ่มปั่นได้ 4 จุด ได้แก่ พระลานพระราชวังดุสิต, สนามกีฬากองทัพบก, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ทั้งเที่ยวขาไปและเที่ยวขากลับ
3. ซ้อมปั่นก่อนถึงวันจริง
ก่อนจะไปปั่นจริง ยังพอมีเวลาหลายวัน ช่วงนี้แนะนำให้ไปซ้อมปั่นบ่อยๆ เพื่อที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ จะได้ชิน ช่วยให้ไม่เกิดอาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรือเกิดตะคริวในวันจริง โดยอาทิตย์หนึ่งควรซ้อม 5 วัน พัก 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายได้เสริมสร้างความแข็งแรงให้มากขึ้น ส่วนการซ้อมปั่นใน 5 วัน ก็ต้องแบ่งให้มีวันเบาวันหนัก สลับกันไป อย่าหักโหม โดยเฉลี่ยแล้วต้องซ้อมให้ได้ 70% ของระยะที่จะต้องปั่นจริง
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IEaIWmlc57C07ahIs2vXhmUf8z.jpg)
มีทั้งมือใหม่ มือสุดเก๋า มาร่วมปั่นกันเพียบ
4. กินให้ครบหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับการเตรียมพร้อมในคืนก่อนที่จะไปปั่น ก่อนหน้าไปปั่นสัก 2-3 วัน ต้องวางแผนในการกินอาหาร เพื่อสะสมพลังงาน ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ โดยเน้นแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ และน้ำในสัดส่วนที่เยอะขึ้น งดเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์ หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้สมรรถนะของร่างกายลดลง (ถ้าร่างกายไม่พร้อมแล้วไปออกกำลังหนักๆ จะทำให้วูบได้) และคืนก่อนที่จะตื่นไปปั่น คืนนั้นคุณต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8 ชั่วโมงขึ้นไป
5. ก่อนปั่นต้องโหลดพลังงาน
สำหรับวันปั่นจักรยานวันจริง ก่อนปั่นจะต้องเติมคาร์โบไฮเดรตให้ร่างกาย เพื่อเตรียมแหล่งพลังงานให้พร้อม อาจจะทานเป็นข้าว ขนมปัง หรือผักจำพวกมันเทศ ฟักทอง เป็นต้น แต่ไม่ควรดื่มน้ำเยอะเกินไป การที่มีของเหลวในกระเพาะอาหารปริมาณมาก เวลาออกกำลังกายจะทำให้จุกเสียดได้ง่าย
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IEaIWmlc57C07S1rhy0VU6IRqI.jpg)
ขาปั่นเตรียมพร้อม
6. ยืดเส้นยืดสาย
นอกจากเตรียมพร้อมเรื่องอาหารที่เสริมพลังงานแล้ว ก่อนปั่นจักรยานก็ต้องมีการวอร์มอัพ ยืดเส้นยืดสาย ควรฝึกยืดกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือโดยการบีบกำเข้าและออกแน่นๆ อาจหาผ้าเช็ดตัว ลูกบอลขนาดเท่ากำมือ หรือ ลูกเทนนิส พยายามบีบเข้าและออกให้เท่ากันทั้งสองข้าง
ส่วนแขนและขา ก็ต้องบริหารด้วยท่ายืดเส้นต่างๆ เช่น เหยียดขาไปด้านหลังหนึ่งข้าง ส่วนอีกข้างก้าวไปข้างหน้าแล้วย่อเข่าลง ทำสลับกันสองข้าง เป็นต้น
7. เตรียมน้ำดื่ม
ต้องเตรียมน้ำดื่มติดตัวไปด้วย ในขณะปั่นจะได้หยิบมาจิบได้ตลอดเส้นทาง เป็นการลดอุณหภูมิร่างกาย และยังช่วยให้ไม่ขาดน้ำจากการเสียเหงื่อด้วย โดยขณะปั่น ต้องหยุดพักทุกๆ 1 ชั่วโมง จิบน้ำทุกๆ 10-15 นาที แม้ไม่กระหาย ก็ต้องดื่ม
นอกจากนี้ เมื่อปั่นจักรยานไปได้สักระยะ ก็ควรเติมน้ำตาลเข้าร่างกาย โดยพกอาหารที่ทานง่าย เช่น ลูกเกด กล้วยตาก และเครื่องดื่มเกลือแร่ เนื่องจากสามารถย่อยเป็นน้ำตาลได้เร็ว และร่างกายสามารถดึงพลังงานมาใช้ขณะปั่นได้ทันที
8. อย่าเร่งความเร็วมากเกินไป
ขณะปั่น อย่าฝืนเร่งทำความเร็วมากเกินไป หลายคนมักเผลอเร่งทำความเร็วในช่วงแรกๆ แต่การฝืนเร่งจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าเร็ว จนหมดแรงปั่นในช่วงท้ายๆ แทนที่จะได้ความเร็วปั่นเข้าใกล้เส้นชัยมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าปั่นได้ช้ากว่าจังหวะปกติด้วยซ้ำ ยิ่งฝืนปั่นขณะที่ร่างกายหมดเรี่ยวแรงนะ ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IEaIWmlc57C07ZOGm4blwDWCb9.jpg)
ต้องฟิตร่างกายให้พร้อมก่อนปั่น
9. หลังปั่นต้องเสริมโปรตีน
หลังจากปั่นจักรยานเข้าเส้นชัย ควรวอร์มร่างกายอีกครั้ง เพื่อช่วยลดการเกิดตะคริว และต้องเพิ่มโปรตีนให้ร่างกายเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
เนื่องจากหลังการปั่นจักรยาน กล้ามเนื้อบางส่วนจะถูกทำลาย จึงควรเติมโปรตีนเข้าสู่ร่างกายทันที ด้วยการบริโภคอาหารจำพวกโปรตีน เช่น นมถั่วเหลือง นมช็อกโกแลต ภายในช่วงครึ่งชั่วโมงหลังการปั่น เพราะช่วงนี้ร่างกายจะสามารถรับโปรตีนเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนที่สึกหรอได้ดีที่สุด อาจช่วยให้ปวดกล้ามเนื้อน้อยลงในวันถัดไปได้ด้วย
สำหรับข้อมูลรายละเอียดอื่นๆ ในงาน Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 1122
ที่มาข้อมูลและภาพบางส่วน : bikeformom2015, sarakadee