รู้จักระเบิดไฮโดรเจน อาวุธทำลายล้างที่เกาหลีเหนืออ้างว่ามีแล้ว!!

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1485
หางาน,สมัครงาน,งาน,รู้จักระเบิดไฮโดรเจน อาวุธทำลายล้างที่เกาหลีเหนืออ้างว่ามีแล้ว!!

สื่อในเกาหลีใต้รายงานข่าวการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนของเกาหลีเหนือ (ภาพ: AFP)

แต่เมื่อวันพุธที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทำให้ทั้งโลกตกตะลึง เมื่อพวกเขาประกาศว่า ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่ฐานใต้ดินของประเทศแล้ว เรียกเสียงประณามจากหลายประเทศแม้แต่มหามิตรอย่างจีนและรัสเซีย ขณะที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลถึงศักยภาพทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

แต่ทำไมข่าวการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนของเกาหลีเหนือถึงสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลกขนาดนี้ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลเปียงยางเคยทดสอบระเบิดปรมาณูมาแล้วหลายครั้งในอดีต

 

ผู้สื่อข่าวหญิงของเกาหลีเหนือ ประกาศข่าวความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจน (ภาพ: AP)

ระเบิดไฮโดรเจนกับระเบิดปรมาณูต่างกันอย่างไร?

ระเบิดไฮโดรเจน (เอช-บอมบ์) หรือ ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ และระเบิดปรมาณู หรือ อะตอมิกบอมบ์ (เอ-บอมบ์) มีความแตกต่างกันทั้งในด้านหลักการทำงานและพลังทำลาย โดยระเบิดปรมาณูใช้แร่พลูโตเนียม หรือใช้ ยูเรเนียม ที่ผ่านการเสริมสมรรถภาพในระดับสูงเป็นเชื้อเพลิง พลังระเบิดเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น ซึ่งจะแยกพลูโตเนียมหรือยูเรเนียมเป็นอะตอมที่เล็กลง และเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ปลดปล่อยพลังระเบิดมหาศาลออกมา

ส่วนระเบิดไฮโดรเจน มีความซับซ้อนกว่า เหมือนเป็นระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกในลูกเดียว เพราะแรงระเบิดของ เอช-บอมบ์ เกิดจากปฏิกิริยาฟิวชั่น ซึ่งต้องใช้ความร้อนมหาศาลในการเริ่มต้นกระบวนการ ให้ไอโซโทปหนักของไฮโดรเจนชนกันเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ จึงจำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณูเป็นตัวจุดระเบิด ซึ่งการระเบิดจะเกิดขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กัน

ระเบิดไฮโดรเจนยังมีพลังทำลายมหาศาลกว่าระเบิดปรมาณูมากมาย ตัวอย่างเช่น ระเบิดปรมาณู 'ลิตเติลบอย' ที่สหรัฐฯใช้โจมตีเมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่น เมื่อปี 1945 มีพลังทำลายเทียบเท่าระเบิด ทีเอ็นที หนัก 15,000 ตัน (15 กิโลตันทีเอ็นที) ขณะที่เมื่อครั้งสหรัฐฯ ทดสอบเทอร์โมนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1952 สร้างพลังทำลายถึง 10.4 ล้านตันทีเอ็นที หรือสูงกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมา 700 เท่า

หากเกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจนจริงตามที่กล่าวอ้าง พวกเขาก็จะเข้าไปร่วมกลุ่มประเทศเพียงหยิบมือที่เคยประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์อานุภาพสูงชนิดนี้มาก่อน และอาจกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังทดสอบอาวุธชนิดนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ลงนามคำสั่งให้ทดสอบระเบิดไฮโดรเจน (ภาพ: REUTERS)

ประเทศไหนมีระเบิดไฮโดรเจนบ้าง?

ระเบิดไฮโดรเจนไม่เคยถูกนำไปใช้ในสงครามมาก่อน และจากข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยจนถึงตอนนี้ ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย (เมื่อครั้งเป็นสหภาพโซเวียต) และจีน เป็นประเทศที่เคยทำการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนมาแล้วในอดีต

สหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจน เกิดขึ้นเมื่อ 1 พ.ย. 1952 ระเบิดชื่อว่า 'ไอวี ไมค์' ถูกยิงไปที่เกาะเอลูเกลับ ในเกาะปะการัง เอเนเวทัค ของหมู่เกาะมาร์แชลในมหาสมุทรแปซิฟิก สร้างแรงระเบิดถึง 10.4 ล้านตันทีเอ็นที หรือ 450 เท่าของระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ใช้โจมตีเมืองนางาซากิ ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ไอวี ไมค์ หรือฉายาว่า 'ไส้กรอก' ลูกนี้ใช้ระเบิดปฏิกิริยาฟิสชั่นขนาดใหญ่พิเศษ เป็นตัวจุดระเบิด และใช้ ดิวทีเรียม หรือ ไฮโดรเจนหนัก ซึ่งถูกคงสถานะเป็นของเหลวด้วยเครื่องแช่แข็งเป็นเชื้อเพลิงฟิวชั่น

ในเวลาต่อมา สหรัฐฯ เปลี่ยนไปใช้ ลิเทียม ดิวทีไรด์ แข็ง แทน ดิวทีเรียมเหลว เนื่องจากพบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริง และในปี 1954 ได้ยิงทดสอบระเบิด 'แคสเซิล บราโว' หรือฉายาว่า 'กุ้ง' สร้างแรงระเบิดถึง 15 ล้านตันทีเอ็นที ถือเป็นระเบิดรุนแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เคยทดสอบ

อย่างไรก็ตาม ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกกลับเป็นของโซเวียต โดยระเบิดไฮโดรเจนลูกนี้มีชื่อว่า 'เอเอ็น602' หรือ 'ซาร์ บอมบา' ถูกยิงทดสอบที่หมู่เกาะ โนวายา ซิมลา ในมหาสมุทรอาร์ติก ทางเหนือของรัสเซียเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 1961 สร้างแรงระเบิดมหาศาลถึง 50 ล้านตันทีเอ็นที โดยพลังงานเกือบ 97% ของระเบิดลูกนี้มาจากปฏิกิริยาฟิวชั่น

 

ควันรูปดอกเห็ดจากการระเบิดของ ระเบิดไฮโดรเจน 'ไอวี ไมค์' ของสหรัฐฯ โดยการระเบิดทำให้เกิดลูกไฟกว้าง 3 ไมล์ ควันพุ่งขึ้นฟ้าสูง 57,000 ฟุตในเวลา 90 วินาที และสูง 135,000 ฟุต หรือทะลุชั้นสตราโตสเฟียภายในเวลา 5 นาที ทำลายเกาะเอลูเกลับจนสิ้นซาก และทิ้งหลุมระเบิดกว้าง 6,240 ฟุต และลึก 164 ฟุต ไว้ใต้ทะเล (ภาพ: AFP)

ขณะที่สหราชอาณาจักร ทดสอบระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกเมื่อ 15 พ.ค. 1957 โดยยิงระเบิด 'กรีน แกรนิต' ไปที่เกาะมัลเดน บริเวณเกาะคิริสมาส ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่สร้างแรงระเบิดเพียง 300,000 ตันทีเอ็นทีเท่านั้น ต่อมายูเคเริ่มหันมาใช้ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์แบบ 2 ตอนที่มีตัวจุดระเบิดรุนแรง และสามารถสร้างเอช-บอมบ์ ความรุนแรงระดับล้านตันทีเอ็นที และรุนแรงที่สุดที่ 3 ล้านตันทีเอ็นทีในการทดสอบเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 1958

สหรัฐฯ, ยูเค และโซเวียต ทำข้อตกลงยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนพื้นดินในปี 1963 และโซเวียตทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งสุดท้ายในปี 1990 และไม่ได้ทำการทดสอบอีกเลยแม้กลายเป็นรัสเซียแล้ว ส่วนยูเคทดสอบครั้งสุดท้ายในปี 1991 สหรัฐฯ ในปี 1992 ฝรั่งเศสและจีนในปี 1996

ประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานว่าเคยทดสอบระเบิดไฮโดรเจนคือ อินเดีย โดยเคยทดสอบเมื่อปี 1998 แต่สร้างแรงระเบิดเพียงไม่เกิน 60,000 ตันทีเอ็นที จึงเชื่อว่าการทดสอบล้มเหลว ขณะที่อิสราเอลถูกกล่าวหาว่ามีเอช-บอมบ์ในครอบครอง แต่ไม่เคยมีรายงานว่าได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ส่วนปากีสถานมีรายงานว่าเคยทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดิน 6 ครั้ง จนถึงปี 1998 และในปี 2000 นักวิทยาศาสตร์ของปากีสถานก็ออกมาอ้างว่า พวกเขามีขีดความสามารถในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน โดยต้องใช้เวลาศึกษาและพัฒนาอีก 3-6 ปี แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการทดสอบระเบิดชนิดนี้

 

แบบจำลงระเบิด 'ซาร์ บอมบา' ระเบิดไฮโดรเจนของโซเวียต และระเบิดที่รุนแรงที่สุดในโลก (ภาพ: AFP)

โลกกังขา เกาหลีเหนือทดสอบเอช-บอมบ์จริงหรือ?

นอกจากเสียงประณามแล้ว ยังมีการตั้งคำถามว่า เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจนจริงหรือไม่ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่ใช่ เนื่องจาก แรงสั่นสะเทือนที่หน่วยงานติดตามแผ่นดินไหวในหลายประเทศเช่น จีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตรวจวัดได้มีความรุนแรงเพียง 5.1 เท่ากับแรงสั่นสะเทือนเมื่อครั้งรัฐบาลเปียงยางทดสอบระเบิดปรมาณูเมื่อปี 2013 ทั้งที่เอช-บอมบ์ควรมีความรุนแรงกว่า

นาย บรูซ เบนเน็ตต์ จากองค์กร 'รีเสิร์ช แอนด์ เดเวลอปเมนต์ คอร์เปอเรชัน' (RAND Corporation) หน่วยงานเอ็นจีโอซึ่งทำงานวิจัยและวิเคราะห์นโยบายให้กับกองทัพสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่เชื่อว่าเกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจน โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังประสบปัญหาในเข้าใจพื้นฐานอาวุธปฏิกิริยาฟิสชั่น ดังนั้นจึงเป็นการก้าวกระโดดเกินไป ที่พวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่าได้

 

เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.1 ณ จุดที่เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่ฐานใต้ดิน (ภาพ: AFP)

ขณะที่องค์กร นอร์ซาร์ หน่วยงานติดตามการทดสอบทางนิวเคลียร์ของนอร์เวย์ ระบุว่า การทดสอบครั้งล่าสุดของเกาหลีเหลือเกิดขึ้นใต้ดินลึกกว่าครั้งก่อน จึงเป็นเรื่องจากในการสืบจับกัมมันตภาพรังสีเพื่อระบุชนิดของระเบิดที่ใช้ทดสอบ แต่จากการอ่านค่าแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากแรงระเบิดแล้ว ระเบิดลูกนี้มีพลังไม่เกิน 10,000 ตันทีเอ็นที เล็กกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก และห่างไกลจากอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ ที่สร้างแรงระเบิดได้นับล้านตันทีเอ็นทีด้วย

แต่ไม่ว่าระเบิดที่ใช้ในเหตุการณ์นี้จะเป็นปรมาณูหรือไฮโดรเจน การกระทำของเกาหลีเหนือเป็นการแสดงความยั่วยุ และละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ได้จัดการประชุมฉุกเฉิน และเตรียมออกมาตรการใหม่เพื่อลงโทษรัฐบาลเปียงยางแล้ว

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top