ท้องทะเลอันสวยใส มักเป็นหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอยู่ไม่ขาดสาย แต่การลงเล่นน้ำทะเลไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป หากไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง เหมือนกับสาวไทยรายหนึ่งที่ลงเล่นน้ำทะเลที่บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วถูก 'แมงกะพรุนกล่อง' ต่อยเข้าที่ลำตัวหลายแห่ง จนเสียชีวิตในที่สุด
โดยทั่วไปแมงกะพรุนเป็นสัตว์เคลื่อนไหวช้า แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเจ้าแมงกะพรุนตัวใสๆ บางชนิด ก็เคลื่อนไหวได้เร็วและยังมีพิษสงมหาศาล หากโดนต่อยเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงได้ ยิ่งถ้าได้รับพิษมากๆ ก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เหมือนกัน
วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ เลยจะพาไปทำความรู้จัก แมงกะพรุนกล่อง วายร้ายที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวกันเสียหน่อย รวมถึงความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับแมงกะพรุนที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน โดยงานนี้ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกมาให้ความรู้เรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ไว้อย่างน่าสนใจหลายข้อ พร้อมแล้ว ตามมาอ่านกันเลย
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IG6L1rSnt8fJPUZTD6X4kGi1Gt.jpg)
แมงกะพรุนตัวใส สีสันแห่งท้องทะเล
1. ปัจจุบันแมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า มีแมงกะพรุนกล่องอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีรายงานผู้โดนต่อยในอ่าวไทยมากกว่า โดยช่วงนี้มีการรายงานว่าพบกะพรุนกล่องอยู่มากในแถบตะวันออก เช่น ชุมพรไปถึงพงัน
แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สายเดี่ยว (ในแต่ละมุม) และสายเป็นกลุ่ม ปกติสายเดี่ยวจะมีพิษน้อยกว่าพวกสายกลุ่ม พบในไทย 10-11 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีพิษต่างกันไป ส่วนความรุนแรงที่เกิดกับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ และมีความแพ้พิษระดับใด ไม่ได้ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย
2. สาเหตุที่กะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นจากอดีต อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ นักท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ และระมัดระวังตัว หาทางหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด โดยเฉพาะเจ้ากะพรุนกล่อง สามารถพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงน้ำตื้น พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง เช่น สมุย พงัน เกาะล้าน มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง เช่น สิมิลัน
3. เนื่องจากกะพรุนกล่องมีขนาดเล็ก จึงเคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นนักดำน้ำ อาจมองเห็นได้ นอกจากนี้ นักดำน้ำสวมเว็ทสูท โอกาสเป็นอันตรายน้อยกว่า เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย พบว่าเป็นคนเล่นน้ำตามชายฝั่งมากกว่านักดำน้ำ
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IG6L1rSnt8fJPfwpTKEzrE2HGi.jpg)
หากโดนต่อยต้องรีบปฐมพยาบาลและนำส่งแพทย์ทันที
4. หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิต
5. วิธีการป้องกันก็คือ ใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีชุด stinger suit สำหรับใส่เล่นน้ำ หรือมีจุดเล่นน้ำแบบมีตาข่ายกั้น ในเมืองที่ผมเคยอยู่ก็ต้องเล่นน้ำเฉพาะในที่กั้นครับ อีกอย่างคือ น้ำทะเลตามชายฝั่งช่วงนี้ขุ่น หากอยากลงน้ำให้เล่นตรงแนวคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่น
6. หากโดนแมงกะพรุนต่อยจะรู้ตัวทันที เพราะจะรู้สึกเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตหรือแส้ฟาด สิ่งที่ต้องทำคือ ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที
7. หลังจากขึ้นฝั่งให้รีบใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด อย่าใช้น้ำจืดล้าง เพราะน้ำจืดจะทำให้เข็มพิษทำงานมากขึ้น
![](http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1D7IG6L1rSnt8fJPWRNX6AXP8RWtd.jpg)
แมงกะพรุนบางชนิดมีพิษมหาศาล
8. ขั้นต่อมาคือ ราดน้ำส้มสายชูปริมาณมากบริเวณแผล และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รีบนำส่งแพทย์เป็นอันดับแรก ควรแยกกันช่วย คนหนึ่งวิ่งไปหาถังมาตักน้ำทะเลสาด คนหนึ่งวิ่งเข้าครัวไปหาน้ำส้มสายชูมาเยอะๆ อีกคนรีบหารถและโทรหาแพทย์โดยด่วน ควรมีผู้ที่ปั๊มหัวใจเป็นอยู่ในรถด้วย โดยปกติหากผู้ป่วยรอดเกิน 10 นาที โอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก (เป็นสถิติจากออสเตรเลีย)
9. หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลควรเป็นหน่วยหลัก เพราะเมื่อดูจากสถิติความร้ายแรงของการที่มีนักท่องเที่ยวโดนแมงกะพรุนต่อยแล้ว บ้านเราเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก
10. หน่วยงานท่ีเกี่ยวข้องกับการท่องเท่ียวและหน่วยงานท้องถิ่น ควรพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว
ที่มาข้อมูล : thon.thamrongnawasawat